|
 |
 |
 |
|
|
|
|
Human Flow |
|
|
|
View : 3,702 |
Download : 8 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
|
|
|
|
|
|
|
|
หนังเรื่อง Human Flow |
|
|
เข้าฉายวันที่ : 21 ธันวาคม 2560
จัดจำหน่าย : มงคลเมเจอร์
ผู้กำกับ : อ้าย เว่ย เว่ย
เรื่องย่อหนัง Human Flow
เมื่อประชากรกว่า 65 ล้านคนทั่วโลกถูกบังคับให้ทิ้งบ้านเกิดมาไม่ว่าจะเป็นเพราะภัยสงครามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง Human Flow คือสารคดีเรื่องเยี่ยมฝีมือของ อ้าย เว่ย เว่ย ศิลปินชาวจีนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ว่าด้วยการอพยพของมนุษย์ สารคดีเรื่องนี้ตีแผ่ประเด็นผู้ลี้ภัยและปมภายในจิตใจของมนุษย์ ถ่ายทำในกว่า 23 ประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็น อัฟกานิสถาน, บังคลาเทศ, ฝรั่งเศส, ,กรีซ ,เยอรมัน ,อิรัก ,อิสราเอล ,อิตาลี ,เคนย่า ,เม็กซิโก ,และตุรกี Human Flow ติดตามกลุ่มคนโชคร้ายที่ต้องการเพียงความมั่นคงและความปลอดภัย ตั้งแต่ค่ายผู้อพยพบนชายฝั่งติดกับมหาสมุทรไปจนถึงเส้นแบ่งเขตแดนที่รายล้อมไปด้วยลวดหนาม จากความสิ้นไร้หนทางและความผิดหวังไปสู่ความกล้าหาญ ความอดทน และการปรับตัว จากชีวิตที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังสู่อนาคตที่คาดเดาอะไรไม่ได้ Human Flow คือสารคดีที่มาถูกยุค มันคือช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความอดทด ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้ใจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:02
|
 |
|
|
|
Human Flow - Official Trailer [ ตัวอย่าง ซับไทย ]
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:06
|
 |
|
|
|
ภาพยนตร์โดย อ้าย เว่ย เว่ย
“ฉันอยากใช้ชีวิตเยี่ยงเสือดาวข้างลำธาร เหมือนดั่งเมล็ดพันธุ์ที่รอวันแตกหน่อ อยากมีอิสระเหมือนดั่งมนุษย์ยุคแรก”
-- นาซิม ฮิคเม็ท นักกวีชาวเติร์ก (1902-1963)
วิกฤตนี้คือวิกฤตของเรา
ลองจินตนาการตามนี้ดู: ถ้าคุณและครอบครัวต้องทิ้งทุกอย่างกะทันหัน จำเป็นต้องจากบ้านที่กลายเป็นซากปรักหักพังจากสงคราม แบกความสิ้นหวังอยู่เต็มอก เงินเก็บทั้งชีวิตของคุณถูกใช้ไปกับการเดินทางยาวเป็นอาทิตย์ๆ ผ่านภูเขา ทะเลทราย แม้กระทั่งอาจต้องลงแพยางไปเผชิญชะตากรรมกลางมหาสมุทร หรือไม่คุณก็รออยู่เฉยๆ จนกระทั่งสถาการณ์ตึงเครียด เดินทางไปไหนไม่ได้เพราะชายแดนถูกปิด ในค่ายผู้อพยพทุกคนต่อสู้เพื่อไม่ไห้ลวดหนามพวกนั้นมาทิ่มแทงความหวังของพวกเขาได้ ถึงแม้ว่าคุณจะหนีจากความวิบัติเหล่านั้นพ้นแต่คุณกลับพบว่าตัวเองต้องมาเป็นผู้อพยพในเมืองที่คุณไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมาเยือน บนนถนนเส้นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แต่อย่างไรก็ตามคุณยังต้องขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือต้องเอาตัวรอดให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
นี่ไม่ใช่เหตุการณ์สมมติ มีคนจริงๆ ที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวที่อุดมไปด้วยความรักและความกล้าหาญที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในโลกที่กำลังหมุนไปตลอดเวลา นักการเมืองและผู้สันทัดได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาผู้ลี้ภัยสงคราม อาหารขาดแคลน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่การโต้เถียงอันดุเดือดยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวน ความปลอดภัยปะทะความรับผิดชอบ เลือกจะสร้างกำแพงหรือเชื่อมสะพาน ซึ่งความจริงที่ยังคงอยู่ คือคนจริงๆ ที่มีฝัน มีความต้องการใช้ชีวิต ต้องมาติดอยู่ในเขาวงกตแห่งความไม่แน่นอนที่ไม่ว่าใครก็สามารถหลงทางได้ง่ายๆ คำว่า “ผู้ลี้ภัย” สามารถล่อหลอกเราให้ลืมปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่ามันไม่เกี่ยวกับตัวเลข สถิติ หรือจำนวนที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่มันเกี่ยวกับหัวใจที่ยังคงเต้น เกี่ยวกับชีวิตที่ดิ้นรน สายธารแห่งเรื่องราวที่เต็มไปด้วยรสชาติ ความเพ้อฝัน ความเศร้าหมอง ที่พวกเขามีไม่ต่างจากเรา
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมศิลปินอย่าง อ้าย เว่ย เว่ย ถึงเลือกตีแผ่ความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัย ในภารกิจเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่พวกเราล้วนต้องการ ความปลอดภัย, ที่พักอาศัย, ความสงบสุข และโอกาสที่ให้ได้เป็นตัวของตัวเอง ในภาพยนตร์สุดทรงพลังเรื่องใหม่เขา Human Flow อ้ายขอเป็นตัวแทนกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนนอกกฏหมาย เพื่อถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ เพื่อยับยั้งคลื่นความกลัวที่ปกคลุมทั่วโลกด้วยความกล้าหาญที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ ตลอดอาชีพของอ้าย เว่ย เว่ย เขาต่อต้านการแบ่งแยกทุกรูปแบบ เขาสู้เพื่อศิลปะและการเมือง และ Human Flow คือข้อพิสูจน์อีกครั้ง ว่าเขาสามารถขยายขอบเขตของคำว่าศิลปะเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างในสังคม ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขาพยายามทำในโปรเจคต์นี้
อ้ายเคยกล่าวไว้ว่าวิกฤตที่รอเราอยู่ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนของผู้ลี้ภัยไร้ที่ไปเท่านั้น แต่รวมถึงการที่คนเราหันหน้าหนีในเวลาที่มีคนขอความช่วยเหลือ เขาเลยเริ่มการเดินทางของตัวเอง การเดินทางที่เรียบง่ายแต่มีเป้าหมายครั้งสำคัญ เขาใช้ชีวิตในแต่ละวันเยี่ยงผู้อพยพทั่วทุกมุมโลก ผลออกมาคือประสบการณ์ภาพเคลื่อนไหวสเกลยักษ์ที่ให้ความรู้สึกสุดลึกซึ้ง มันคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างบทกวีและข้อเท็จจริง เสียงหัวเราะเจือเคราะห์กรรม ความเข้มเข้นที่อ่อนไหว ทั่วทั้ง 23 ประเทศทั่วโลก อ้ายสร้างโลกที่กว้างใหญ่ที่พร้อมให้แต่ละคนเข้าไปสำรวจ มันทำให้ผู้ชมได้เข้าใจว่ามันรู้สึกอย่างไรที่ต้องใช้ชีวิตเหมือนมันอยู่ในสภาพที่เปราะบางที่สุด
อ้ายกล่าว “ในฐานะศิลปิน ผมเชื่อในความเป็นมนุษย์มาตลอดและผมมองว่าวิกฤตนี้เป็นวิกฤตของผมด้วยเช่นกัน ผมเห็นคนเหล่านั้นขึ้นเรือมาเหมือนครอบครัวของผม พวกเขาอาจเป็นลูกหลานผม เป็นพ่อแม่ เป็นพี่ชายก็ได้ ผมไม่คิดว่าผมต่างจากพวกเขาตรงไหน เราอาจจะพูดคนละภาษา มีความเชื่อต่างกัน แต่ผมเข้าใจพวกเขา พวกเขาไม่ชอบอากาศหนาว ไม่ชอบยืนตากฝน ไม่ชอบปล่อยให้ท้องหิว เหมือนกับผม และพวกเขาต้องการความปลอดภัยเหมือนกับที่ผมต้องการเช่นกัน”
เขากล่าวต่อ “ในฐานะมนุษย์ ผมเชื่อว่าทุกวิกฤตและความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนอื่นมันควรจะรู้สึกเหมือนเกิดขึ้นกับตัวคุณเองโดยตรง ถ้าคุณไม่เชื่อใจกันและกัน แปลว่าเราเจอกับปัญหาใหญ่แล้ว เพราะมันหมายถึงเรากำลังเผชิญกับกำแพงและการแบ่งแยก นักการเมืองจูงจมูกเราไปในทางที่ผิดซึ่งมันทำให้อนาคตของพวกเราตรงดิ่งสู่ความมืดมน”
ยิ่งไปกว่านั้น นักทำหนังกว่า 200 คนทั่วโลกเข้าร่วมโปรเจคต์ Human Flow ทั้งหมดช่วยกันเปลี่ยนงานโปรดัคชั่นขนาดมหึมาให้เป็นการสรรเสริญความดีของมนุษย์ และปฏิญาณเพื่อปกป้องคนที่มีความฝัน ความรัก ความอิสระ ที่ถูกทำลายจากการกดขี่ สงคราม และการถูกทอดทิ้ง
อ้ายเคยสร้างงานติดตั้งสเกลใหญ่มาแล้วก่อนหน้านี้หลายงาน เขายังเคยกำกับภาพยนตร์สารคดีมาไม่น้อยในจีน แต่โปรเจคต์นี้เป็นครั้งแรกที่งานศิลปะของเขาเป็นสเกลระดับโลก ที่แสดงลายเซ็นการกำกับของเขาออกมาครบถ้วน ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นมนุษย์ การตั้งคำถามด้านศีลธรรม อัดแน่นไปด้วยอารมณ์พุ่งพล่าน มันยังเป็นการรวมกันของการนำเสนอหลายแขนงเช่นการใช้ตัวอักษรเพื่อทำให้ภาพที่ปรากฏสมดุล เพื่อส่งเสริมข้อเท็จจริงที่จะสะท้อนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นออกมาอย่างไร้การปรุงแต่ง แต่มีความซับซ้อนในแบบที่เราไม่สามารถเห็นได้ในข่าวหรือแค่มองภาพนิ่ง
แอนดรูว์ โคเอน ผู้อำนวยการสร้างมอบมุมมอง “Human Flow คืออีกชิ้นงานที่ต่อยอดอาชีพอันยาวนานของอ้าย มันคือการ ตามหาความจริงและการพยายามทำความเข้าใจระบบของทุกวัฒนธรรม ตลอดอาชีพของเขา เขาตีความความไร้สาระ ความขัดแย้ง และความงดงามของการเป็นมนุษย์ผ่านงานศิลปะ ซึ่งมันล้วนมอบมุมมองใหม่ให้กับชีวิตเรา ใน Human Flow เขาพาเราเดินทางพร้อมกับผู้ลี้ภัย และหาทางนำเสนอศักดิ์ศรี ความหวัง และอารมณ์ขันออกมาระหว่างการเดินทางสุดทรหด ความเห็นอกเห็นใจและความเมตตา เช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้าของเขา Human Flow สามารถจัดได้ว่าเป็นงานบุกเบิก เขามอบเสียงให้คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง และมอบโอกาสให้พวกเขาได้ทำให้ชาวโลกตาสว่าง คุณไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ แต่สัมผัสประสบการณ์จริงจากมันต่างหาก”
ประสบการณ์นั้นเป็นเครื่องเตือนใจว่าระหว่างคนดูและผู้ลี้ภัยมีสิ่งเดียวที่ต่างกันคือโชคชะตาที่ลิขิตให้เกิดมาในประเทศที่สงบสุข เรื่องร้ายๆ ที่เกิดกับผู้ลี้ภัยไม่ได้มาจากการกระทำของพวกเขา มันคืออุบัติเหตุทางภูมิศาสตร์ ซึ่งคนดูสามารถสัมผัสได้เลยว่า ถ้ามีอะไรผิดแปลกไปแม้แต่เล็กน้อยคนที่ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยอาจเป็นพวกเขาเองก็เป็นได้
มือตัดต่อ นีช เพ อันเดอร์เซน (สร้างชื่อจากผลงานระดับรางวัลThe Act of Killing และ The Look of Silence) ที่ร่วมตัดต่อหนังเรื่องนี้กับอ้ายที่สตูดิโอของเขาในเบอร์ลิน กล่าวว่าหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของชีวิตและครอบครัว “หนังประเภทนี้อาจจะออกมาเป็นหนังเรียกน้ำตาเกินไป ซึ่งมันผิด ในหนังเรื่องเราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ผู้ลี้ลัยดูเหมือนเป็นเหยื่อ เว่ย เว่ยและผมต้องมองข้ามความน่าสงสารและความกลัวทั้งหลายเพื่อที่จะมองเขาเยี่ยงเพื่อนมนุษย์ หนังจะทำงานของมันได้ดีที่สุดเมื่อมันทำให้คุณรู้สึกเหมือนคลานเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังคนอื่น เห็นการเดินทาง การต่อสู้ ผ่านสายตาพวกเขา ในหนังเรื่องนี้เราสามารถเข้าร่วมต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด โดยไม่ต้องมีสงคราม ไม่ต้องอดอาหาร ไม่มีภัยอันตราย แต่เว่ยเว่ยยังมอบมุมมองที่งดงาม ให้เราได้เห็นคลื่นมนุษย์เหล่านี้ในสเกลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระหว่างที่ทำหนังเรื่องนี้มันถามคำถามเราว่า เราต้องการให้โลกนี้เป็นแบบไหน? ซึ่งมันจุดประกายได้สุดๆ”
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:08
|
 |
|
|
|
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ประวัติศาสตร์โดยย่อ
ผู้ลี้ภัย: บุคคลที่ถูกคุกคามไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านเผ่าพันธุ์ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกของกลุ่มทางสังคมหรือมุมมองด้านการเมือง ทำให้เดินใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศแม่ของตัวเอง
-- การประชุมเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย 1951
มนุษย์เป็นสายพันธุ์อพยพย้ายถิ่นบ่อยอยู่แล้ว พวกเราเร่ร่อนไปจนเกือบครบทุกตารางนิ้วบนโลก ตั้งรกรากเมื่อพร้อมที่สร้างชีวิตที่สมบูรณ์ พัฒนาจนเป็นวัฒนธรรมที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือน แต่ไม่นานมานี้มนุษยชาติได้รับผลกระทบจากการอพยพหลายรูปแบบ ทั้งชาย หญิง และเด็กที่ไม่มีทางเลือกนอกจากลาบ้านเกิด บางครั้งต้องวิ่งหนีเมื่อระเบิดมา ขาดแคลนอาหารที่จะไปจุนเจือครอบครัว ตกอยู่ในสภาวะเครียดเกินกว่าที่จะใช้ชีวิตได้
ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่จะทดสอบศีลธรรมครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ ในโลกทุกวันนี้ที่มีคนเกือบ 66 ล้านคนทั่วโลก ต้องทิ้งบ้านเกิดมาเพราะสงคราม ถูกทอดทิ้ง หรือได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและความยากจน ในปี 2016 ที่เริ่มการถ่ายทำ Human Flow มีคน 22 ล้านคน ครึ่งหนึ่งคือเด็ก ได้รับการลงทะเบียนว่าเป็นผู้ลี้ภัย หลายคนเสี่ยงข้ามเส้นเขตมาโดยที่ไม่รู้เลยว่าจะได้กลับบ้านเกิดอีกครั้งหรือใหม่ พวกเขาเดินทางผ่านแผ่นดินและผืนน้ำ เจอกับโรคร้าย ความอดอยาก ขบวนการค้ามนุษย์ ความรุนแรง การข่มขืน ตัวเลขของเส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกปิดและมีทหารเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นพอๆ กับความอดทนที่เริ่มจะร่อยหรอ ผู้ลี้ภัยกว่า 300,000 คนในปี 2015 และ 2016 เป็นเด็ก ซึ่งเดินทางโดยลำพัง ไม่มีแม้แต่ผู้ใหญ่คอยดูแล
ตัวเลขที่เกิดขึ้นมันมากเสียจนยากจะเชื่อว่ามันคือเรื่องจริง มันตั้งคำถามกับมวลมนุษย์ว่าพวกเราปล่อยให้มีคนที่โดนทอดทิ้งมากขนาดนี้ได้อย่างไร? โลกจะรับมือกับพวกเขาแบบไหน? ใครควรจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ? และราคาที่ต้องจ่ายคือเท่าไหร่ และนโยบายทางการเมืองแบบไหนกันที่ทำให้คนต้องจากบ้านมามากมายขนาดนี้?
การถูกบีบให้ละถิ่นฐานไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคือตราบาปแห่งศตวรรษที่ 20 ศตวรรษแห่งสงคราม สังคมวิบัติ และภูมิประเทศเปลี่ยนโฉม สงครามโลกทั้งสองครั้งทิ้งประชากรพลัดถิ่นทั่วทั้งยุโรปและสภาพโซเวียต ซึ่งเป็นเหตุการณ์แรกที่จุดประกายให้หน่วยงานนานาชาติยื่นมือเข้ามาเยียวยาและมอบสิทธิอันชอบธรรมให้ผู้ลี้ภัย หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการสิ้นยุคล่าอาณานิคมและการแบ่งประเทศอินเดีย ที่บีบให้คนกว่าล้านคนต้องทิ้งบ้านในเอเชียและแอฟริกา ในช่วงปี 1990 ณ จุดสิ้นสุดสงครามเย็น สงครามรวันดา ความขัดแย้งในบอสเนียและโคโซโซ และสงครามในอัฟกานิสถานยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยขึ้นเป็นทวีคูณ
แต่ในปี 2005 จำนวนผู้ลี้ภัยลดเหลือน้อยลงที่สุดในรอบ 26 ปี โดยมีจำนวน 8.4 ล้านคน ทำให้เกิดความมั่นใจว่าคลื่นมนุษย์ลูกนี้กำลังช้าลง และโลกอาจจะจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยได้โดยไม่ต้องรีบเร่งเท่าเดิม แต่วางใจได้ไม่นาน ความไม่มั่นคงในทศวรรษต่อมาก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ซึ่งทำลายบ้านเมืองในตะวันออกกลางแลแอฟริกา ความรุนแรงในอเมริกากลางและเมียนม่าจุดชนวนอพยพครั้งใหญ่จากภัยที่รุนแรงถึงชีวิต และจำนวนประชากรที่เสียชีวิตที่สูงจนน่าใจหายจากสงครามครั้งใหม่ในซีเรีย (ที่จำนวนประชากร 6 ใน 10 คน ต้องย้ายถิ่นฐาน) เปลี่ยนให้ครอบครัวกว่าล้านครอบครัวต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย
ในปี 2015 ผู้ลี้ภัยกว่าล้านคนข้ามทะเลอีเจียน ประเทศกรีซ เพื่อหวังได้รับการคุ้มครองในยุโรป (ผู้อพยพอีก 363,348 คน ตามมาสมทบในปี 2016) แม้ว่าจะผ่านการเดินทางสุดทรหดมาหมาดๆ พวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฏและเส้นแบ่งเขตแดนถูกปิด ยิ่งจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งดุเดือดเท่านั้น เช่นเดียวกับความผิดที่ถูกป้ายให้กับผู้ที่ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากพยายามหนีเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง หน่วยงาน NGO หลายประเทศเข้าช่วยเหลือทันที
เมื่อกำแพงเบอร์ลินทะลายลงในปี 1988 11 ประเทศทั่วโลกล้มเส้นกั้นเขตแดนออก แต่ในปี 2016 70 ประเทศทั่วโลกตั้งกำแพงและรั้วที่เส้นกั้นเขตแดนขึ้นมาอีกครั้ง กำแพงเหล่านี้ปิดกั้นเส้นทางหนีและยังทำให้การเดินทางที่อันตรายอยู่แล้วของผู้ลี้ภัยทวีความอันตรายขึ้นไปอีก จนในปี 2017 จำนวนผู้ลี้ภัยเสียชีวิตระหว่างการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ในปี 2016 ผู้ลี้ภัย 7495 คนเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง)
Human Flow ไม่ได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหา มันไม่ใช่หนังที่เสนอประเด็นการเมือง แม้ว่าจะอัดแน่นไปด้วยข้อเท็จจริงและ การวิเคราะห์เพราะได้ร่วมการเดินทาง ความตั้งใจของทีมงานคือต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จุดประกาย ซึ่งประกายนั้นจะจุดไฟให้ทุกคนหันมาพิจารณาถึงปัญหานี้ด้วยความเมตตาและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา
แม้ว่าจะเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมามาย แต่คำถามที่เป็นหัวใจหลักของ Human Flow คือ เมื่อเราต้องเผชิญกับความขัดแย้ง สภาพอากาศหฤโหด และทรัพยากรขาดแคลน เราจะเลือกปล่อยให้ความอยากที่จะเพิกเฉย ความไร้เหตุผล ความตระหนี่ ของตัวเองครอบงำ หรือจะให้พลังใจในฐานะที่มองเห็นว่าพวกเขาคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก้าวเท้าออกมาช่วยรับผิดชอบ?
ไดแอน เวเยอร์มานน์ กล่าว “แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียกร้องให้คนทั้งโลกออกมาแก้ปัญหานี้ในเวลารวดเร็ว เราล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหานี้และฉันคิดว่าพวกเราหลายคนเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้มันฉุกเฉินขนาดไหน และเห็นด้วยกับเราว่าเรื่องที่เกิดทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไร้มนุษยธรรม และไม่มั่นคงเอาซะเลย เราเลยต้องหาทางว่าจะก้าวต่อไปยังไง ฉันหวังว่าสิ่งที่ผู้ชมจะได้กลับบ้านไป คือให้พวกเขาได้ตระหนักว่าทำไมการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยถึงสำคัญกับพวกเราทุกคน”
แอนดรูว์ โคเอน ชี้แจง “Human Flow ไม่ใช่การเทศนาหรือต้องการชวนทะเลาะ มันไม่ต้องการสั่งสอนหรือแบ่งข้าง เว่ย เว่ย ไม่ใช่นักข่าวที่ชอบใส่ไข่ หรือเป็นคนมากอีโก้ แต่เขาก็เป็นผู้ลี้ภัยมาเกือบตลอดชีวิตเหมือนกัน เขามอบประสบการณ์จริงให้กับเรา เขาไปอยู่บนเรือที่มีคนล้น เดินทางใต้สายฝนและลุยโคลนตมไปกับบรรดาแม่ๆ ที่กระเตงลูก หลั่งน้ำตาไปพร้อมกับครอบครัวที่ต้องฝังสมาชิกในบ้านของพวกเขา หัวเราะและเล่นไปกับเด็กๆ ที่คิดการละเล่นขึ้นมาเองตามสถานที่รอบตัว ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราได้ตีความสถานการณ์นี้ด้วยตัวเราเอง”
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:10
|
 |
|
|
|
อ้าย เว่ย เว่ย: ศิลปะชนะเสมอ
“ไม่ว่าจะบนท้องฟ้าหรือกลางมหาสมุทรหรือหุบเขาสุด ซับซ้อน ไม่มีที่ไหนบนโลกนี้ที่สามารถหลบจากผลของ การกระทำที่ชั่วร้าย”
-- ธรรมบท, คัมภีร์พุทธศาสนา, ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล
อ้าย เว่ย เว่ย แสดงปฏิกริยาต่อปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัย โดยใช้งานของเขาในฐานะศิลปินผ่านสื่อหลายๆ แขนง นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างจริงใจ แม้ว่าจะก่อประเด็นการโต้เถียงดุเดือดก็ตาม แม้ว่าจะถูกเพ่งเล็งขนาดไหนแต่อ้ายทุ่มเทให้งานศิลปะของเขาเป็นอย่างแรกเสมอ “ศิลปะชนะเสมอ” เขากล่าว “มันอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นกับผมก็ได้ แต่งานของผมจะอยู่ตลอดไป”
นอกจาก Human Flow อ้าย เว่ย เว่ย ยังเสนอมุมมองของเขาต่อประเด็นผู้ลี้ภัยผ่านงานติดตั้งที่ชื่อว่า “Law of the Journey,” ที่เป็นเรือยางขนาด 200 ฟุต บรรจุหุ่นผู้ลี้ภัย 258 ตัว ประดับคอนเสิร์ตเฮาส์เบอร์ลินด้วยเสื้อชูชีพสีส้มกว่า 300 ตัว ที่กู้มาจากเกาะ เลสบอส ประเทศกรีซ เอาผ้าห่มร้อนมาคุมงานประติมากรรมของเขาเพื่อจำลองภาพของเด็กชาวซีเรีย ไอย์ลาน เคอร์ดี ที่เสียชีวิตเพราะจมน้ำที่ชายฝั่งตุรกี ผลงานชื่อ “Laundromat,” ที่ติดตั้งที่นิวยอร์ก ซิตี้ แกลลอรี่ มันคือการแสดงเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวที่ผู้ลี้ภัยทิ้งไว้ที่ค่ายชั่วคราวอิโดเมนี่ ประเทศกรีซ และการเดิน 8 ไมล์ผ่าใจกลางลอนดอนร่วมกับเพื่อนศิลปิน อานิช คาปัว ในงานที่ใช้ชื่อว่า “Walk of Compassion” และงานล่าสุด “Good Fences Make Good Neighbors,” ที่อ้ายติดตั้งในที่สาธารณะทั่วเมืองนิวยอร์ก
สำหรับอ้ายมันไม่มีเส้นกั้นระหว่างศิลปะและและความลำบากยากแค้นบนโลกใบนี้ “บ่อยครั้งที่งานศิลปะเลี่ยงจะปะทะกับเหตุบ้านการเมือง แต่สงสัยผมไม่ได้เป็นศิลปินแบบนั้น” เขากล่าว
“ผมให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน และผมรู้สึกว่าสภาวะของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินสุนทรียภาพของมัน ศิลปะต้องเกี่ยวกับแนวคิด ปรัชญา และก่อให้เกิดการโต้เถียงที่จะก่อให้เกิดปัญญา ถ้าคุณเรียกตัวเองว่าศิลปิน นี่แหละคือความรับผิดชอบของคุณ” อ้ายกล่าว “งานของคุณในฐานะศิลปินคือการแสดงความคิด ซึ่งมันสำคัญพอกับการแสดงความสนใจเกี่ยวกับมนุษยธรรมและคุณค่าของคุณ ถ้าผมต้องให้คำจำกัดความศิลปะ ศิลปะคือสิ่งที่ไม่มีรูปแบบ รูปทรง ไร้กฏเกณฑ์ ศิลปะคือหนทางการต่อสู้เพื่ออิสระในใจ มันยังต่อสู้เพื่อตัวเองด้วย ศิลปะไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณแขวนพนังประดับบ้าน ศิลปะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความรู้จักตัวเอง ว่าคุณอยู่ในโลกแบบไหน มีความฝันอย่างไร?”
อ้าย เว่ย เว่ย ถือเป็นศิลปินชาวจีนที่โด่งดังที่สุดที่ยังผลิตงานออกมา แต่เขาเริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้อพยพเช่นกัน เขาเป็นลูกของนักเขียนชาวจีนสองคนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม พ่อของอ้ายเคยเป็นกวีเอกของประเทศแต่ถูกจับเป็นนักโทษการเมือง แม้ท้ายที่สุดเขาถูกปล่อยตัวแต่ทั้งครอบครัวถูกเนรเทศไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในซินเจียง กลางทะเลทรายโกบี ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างทรหด แทบไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา อ้ายเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านหนังสือสารานุกรม
โคเอนกล่าว “เว่ยเว่ยรู้การพลัดถิ่นมันเป็นยังไง เขารู้ความลำบากของการไม่มีบ้านอยู่และถูกทิ้งกลางทะเลทราย ประวัติของเขาบวกกับวิสัยทัศน์และพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์คือสิ่งที่เขาใช้ในการสร้างหนังเรื่องนี้ออกมา”
ในปี 1976 ตอนที่อ้ายอายุ 19 ปี ครอบครัวของเขาได้รับอนุญาตให้กลับแผ่นดินบ้านเกิด ไม่นานหลังจากนั้น อ้ายเข้าเรียนที่สถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่อัดแน่นอยู่เต็มหัว เขากลายมาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของ Stars Group กลุ่มนักเคลื่อนไหวใต้ดินที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการศิลปะของจีน จากชิ้นงานน่าเบื่อ ถูกตีกรอบความคิด เป็นงานสร้างสรรค์อิสระ ไร้ซึ่งความกลัวที่จะปลดปล่อยความคิดออกมาอย่างมีสีสันและไร้การดัดแปลง แม้แต่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะ อ้ายยังถือเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่แกร่งที่สุดคนหนึ่ง เขามีปัญหากับทางการอยู่สม่ำเสมอ
ในทศวรรษที่ 80 อ้ายย้ายไปนิวยอร์กเพื่อเรียนต่อที่สถาบัน Parsons School of Design ก่อนที่จะลาออกมาใช้ชีวิตเยี่ยงชาวนิวยอร์กจริงๆ โดยการเป็นศิลปินข้างถนน ช่างภาพ นักพนัน ตอนที่พ่อเขาป่วย อ้ายบินกลับจีน ซึ่งเขากลับมาเป็นหัวเรือใหญ่ของวงการศิลปะปักกิ่งอีกครั้ง เขาทดลองงานผ่านสื่อทุกรูปแบบ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงภาพยนตร์ ภาพถ่าย ภาพวาด งานเขียน การแสดง และงานจัดวาง เช่นเดียวกับเป็นผู้ริเริ่มศิลปะผ่านทางอินเตอร์เน็ทและโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหนเขายังคงผลักดันงานของเขาให้ถึงขีดสุด วิพากษ์วิจารณ์โลกโพสต์โมเดิร์นที่เต็มไปด้วย การสร้างภาพ, เซเล็บ, การเซนเซอร์, การสอดส่อง, หัวขบถ, และการไขว่คว้าอิสระ
แม้ว่าชื่อเสียงของอ้ายจะกระหึ่มระดับโลก แต่เขายังถูกรัฐบาลจีนเฝ้าจับตาและถือว่าเป็นตัวปัญหา เขาเคยถูกตำรวจเข้าทำร้ายและจับกุมในบ้านของเขาและถูกเฝ้าระวัง และในปี 2011 อ้ายถูกจับเข้าคุกโดยไม่มีข้อหานานถึง 81 วัน เช่นเดียวกับถูกทางการจีนปรับเป็นเงินกว่า 1.85 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเกิดเรื่อง อ้ายย้ายมาพักที่เบอร์ลิน เมืองเดียวกับที่เป็นศูนย์กลางวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2015
การเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันเพื่อสร้างภาพยนตร์ออกมาไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอ้าย ตอนอยู่ที่จีน เขาเคยกำกับ Disturbing the Peace and One Recluse ที่จุดระเบิดการโต้เถียงไปทั่วสังคม และทำให้คนตั้งคำถามกับระบบยุติธรรม ใน So Sorry, เขาบันทึกการสืบสวนของเขาเกี่ยวกับนักเรียนที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวที่เสฉวน เพราะโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน แถมรัฐบาลยังไม่เหลียวแล เขายังทำสารคดีเกี่ยวกับการสร้าง Ordos 100 ที่เขาร่วมมือกับบริษัทสถาปัตยกรรมสวิสเซอร์แลนด์ Herzog & de Meuron เพื่อเชิญ สถาปนิก 100 คน จาก 27 ประเทศเพื่อออกแบบและสร้างบ้านในมองโกเลีย ผลงานเรื่องล่าสุด Ai Weiwei's Appeal ¥15,220.910.50 ที่อ้ายพาคนดูให้ได้รู้จักกับระบบยุติธรรมของจีน หลังจากถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษี ผลงานที่ทำให้อ้ายเป็นที่รู้จักในสหรัฐมากที่สุดน่าจะเป็นบทบาทนักเคลื่อนไหวในสารคดีที่ชนะรางวัลซันแดนซ์ สเปเชียล จูรี่ ไพรซ์ Ai Weiwei: Never Sorry กำกับโดยอัลลิสัน เคลย์แมน
แม้ว่า Human Flow จะเป็นงานภาพยนตร์ชิ้นใหญ่ที่สุดของอ้าย แต่วิธีที่เขาใช้ถ่ายทำยังคงความดิบ คงไว้ซึ่งความสมจริง เล่าเรื่องอย่างเป็นธรรม โดยตัวเขาเองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ “ภาพยนตร์เป็นการแสดงความคิดรูปแบบหนึ่ง มันเป็นวิธีที่สื่อสารได้ง่ายและไปถึงผู้รับสารวงกว้าง” อ้ายกล่าว เมื่อว่าด้วยเรื่องของสิ่งที่เขาคิดว่าหนังเรื่องนี้ทำสำเร็จ เขาตอบง่ายๆ ว่า “ผมรู้สึกอย่างแรงกล้าว่ามนุษย์เราสามารถจูงใจกันและกันให้ตัดสินใจที่ถูกต้องได้”
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:10
|
 |
|
|
|
อ้ายกล่าวถึงเหตุผลที่เขาทำ Human Flow:
มันมีหลายวิธีที่ผมสามารถเล่า Human Flow ออกมา วิธีแรก, ผมสามารถเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ไม่นานหลังจากที่ผมเกิด พ่อผมถูกเนรเทศในฐานะปฏิปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ครอบครัวเราเลยส่งไปอยู่ในที่ทุรกันดาร เราต้องทิ้งทุกอย่างแถมพ่อผมถูกมองว่าเป็นศัตรูของประเทศ ทั้งชีวิตผมโตมาโดยเห็นเพื่อนมนุษย์ต้องตกระกำลำบากจากการกระทำที่เลวร้ายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อย่างที่สอง เพราะผมย้ายมาอาศัยในยุโรป ผมยิ่งอยากทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกันแน่ ผมเริ่มเดินทางไปเกาะเลสบอส เพื่อดูการมาถึงของพวกเขา มันเป็นอะไรที่บรรยายได้ยากมากเมื่อเห็นพวกเขาทั้งหมดขึ้นเรือมา ทั้งชาย หญิง ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่ ผมเห็นความไม่แน่ใจในแววตาพวกเขา พวกเขาตื่นกลัวและไม่รู้เลยว่ากำลังต้องเจอกับอะไรที่แผ่นดินใหม่ มันยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องราวของคนพวกนี้ขึ้นไปอีก ว่าเขาคือใคร ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตมายังที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและใครมีใครรู้จักพวกเขา ผมมีคำถามมากมาย
ความสงสัยนี้เองทำให้ผมตั้งทีมหาข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัยและสถานะพวกเขาในปัจจุบัน นอก เหนือจากสงครามซีเรีย ผู้ลี้ภัยยังเพิ่มจำนวนจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความขัดแย้งในทวีปแอฟริกา กลุ่มคนที่ถูกเนรเทศในเมียนม่าและความรุนแรงในอเมริกากลาง ผมอยากไปทุกที่ที่มีผู้ลี้ภัยบนโลก เพราะผมอยากเข้าใจพวกเขาและบันทึกภาพพวกเขาไว้ไปพร้อมกันๆ มันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ภูมิศาสตร์การเมือง เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:12
|
 |
|
|
|
อ้ายพูดถึงสภาพการถ่ายทำ:
ตอนเริ่มผมไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมีทีมงานถึง 200 คน ทำงานในหลายๆ โลเคชั่นไปพร้อมกัน ส่วนใหญ่ผมไปร่วมกับพวกเขา แต่มีบางครั้งผมไม่ได้รับอนุญาตให้ไปที่กองถ่าย การถ่ายทำมันยากแถมอันตราย มันสะเทือนอารมณ์จนบางครั้งคุณแทบไม่อยากเชื่อว่าสิ่งตรงหน้าคือเรื่องจริง
อ้ายพูดถึงการมองโลกในแง่ดี:
ทุกๆ วันมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคือแรงใจของบรรดาผู้ลี้ภัย แทบจะไม่มีเสียงบ่นใดๆ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีอนาคตที่ชัดเจน ไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ในแคมป์คุณอาจจะต้องต่อแถวนาน 2 ชั่วโมงเพื่อแซนวิชชิ้นเดียว บางที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า ทำให้ตอนกลางคืนหนาวมากๆ มีทั้งฝน โคลน ไม่มีระบบระบายน้ำทิ้ง ชิวิตพวกเขาลำบากมากแต่ผู้คนไม่เคยย่อท้อ พวกเขายังเชื่อเสมอว่าโลกตะวันตกจะมอบความสงบสุขให้ และมอบการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาในอนาคต
อ้ายพูดถึงการนำเสนอในรูปแบบสารคดี:
คนมักกล่าวว่าสารคดีคือการนำเสนอความจริง สารคดีมันคือสิ่งที่คุณเห็นและสัมผัสในชีวิตจริงแต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความจริงเพราะมันช่วงเวลาที่เลือกมาแล้ว ถ้าคุณได้ดู Human Flow คุณจะใช้เวลาดูแค่ 2 ชั่วโมงเศษๆ คุณจะไม่รู้สึกแบบผู้ลี้ภัยนั่นเพราะคุณไม่ได้ทนทุกข์นานเหมือนพวกเขา ดังนั้นภาพยนตร์ไม่สามารถนำเสนอความจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะความจริงนั่นไม่มีใครสามารถทนมันได้
อ้ายพูดถึงศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน:
คำจำกัดความของศิลปะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในศตวรรษที่ผ่านมา มันมีความเคลื่อนไหวเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไร้ที่สิ้นสุด โดยเฉพาะเมื่อเราใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์แบบนี้ โลกซึ่งโครงสร้างแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยอินเตอร์เน็ทและโซเชียลมีเดียซึ่งมันกำลังปลดปล่อยศิลปะออกจากรูปแบบเดิมๆ เราโชคดีที่ทันยุคนี้แต่ตัวศิลปินเองก็ต้องหมั่นสร้างอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกันเพราะสังคมเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบเดิมๆ มันล้าสมัยไปแล้ว
อ้ายพูดถึงความรับผิดชอบในระดับนานาชาติ
วันนี้ผมรู้สึกต้องทำให้โลกได้รู้ว่าเหล่าผู้ลี้ภัยไม่ได้มีอะไรต่างจากเรา พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายและการใส่ร้ายว่าพวกเขาเป็นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นนั่นและคือการก่อการร้ายที่แท้จริง พวกเขาเป็นมนุษย์และมีความเจ็บปวด มีความสุข ทุกความรู้สึกที่พวกเขามีไม่ต่างจากเราเลย ในระดับนานาชาติเรามีระบบต่างๆ รองรับ แต่ควรจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการปกป้องความมีมนุษยธรรม ผมคิดว่าตอนที่นักการเมืองละเลยสิทธิมนุษยชน พวกเขายิ่งทำให้เหตุการณ์วิกฤตมากขึ้น มันถึงเวลาแล้วที่นานาชาติจะร่วมมือแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:15
|
 |
|
|
|
มอบความเคารพ: กว่าจะเป็น Human Flow
“ฤดูไม่ได้มีแค่สี่ สัปดาห์ไม่ได้มีแค้เจ็ด วัน หนึ่งปีมันยาวกว่านั้น หรือสั้นแค่ชั่วพริบตา”
-- อะโดนา (กวีชาวซีเรีย ค.ศ.1930)
ในปี 2016 เกาะเลสบอส ประเทศกรีซ กลายมาเป็นประตูสู่ยุโรปสำหรับผู้ลี้ภัย อ้าย เว่ย เว่ยมุ่งหน้าไปที่นั่นเพื่อให้ได้เห็นกับตา ไม่นานหลังจากนั้น อ้ายตั้งสตูดิโอศิลปะเล็กๆ ขึ้นมาบนเกาะ ไม่นานหลังจากนั้นเขาและทีมงานเล็ก เริ่มการถ่ายทำ โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่ามันจะกลายเป็นโปรเจคต์ใหญ่ระดับโลก เขาแค่ต้องการเก็บภาพสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาก็เท่านั้น
เพื่อถ่ายทอดวังวนแห่งความสิ้นหวังไม่รู้จบที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ อ้ายตัดสินใจไปเยือนให้ได้หลายประเทศที่สุด เพื่อสัมผัสกับเรื่องราวของผู้ลี้ภัยเพื่อใช้สร้างเป็นภาพยนตร์ ขนาดของงานสร้างขยายขึ้นตามความรุนแรงของวิกฤตนี้ มันเป็นเครื่องเตือนความจำว่าโลกทุกวันนี้มีการแบ่งแยกขนาดไหน
โคเอนกล่าว “โครงสร้างการเล่าเรื่องมันเป็นเอกลักษณ์มาก ตลอดความยาวของหนัง ผู้ชมอาจจะสับสนว่าพวกเขากำลังอยู่ในประเทศใด ค่ายอพยพไหน แต่บรรยากาศของเรื่องจะเป็นตัวใบ้เอง สีสัน สภาพอากาศ หรืออาหารจะต่างออกไป แต่ตัวหนังยึดติดกับปัจจัยพื้นฐานของประสบการณ์แต่ละคน ท้ายที่สุดมันเหมือนสังคมผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ทั่วโลก ที่สร้างคลื่นมนุษย์นี้ขึ้นมา”
อ้ายได้เพื่อนร่วมงานมือดีหลายคนมาช่วยทำให้โปรเจ็กต์นี้เป็นจริง ชิน ชิน ยัป ที่เคยร่วมงานโปรเจคต์ศิลปะกับอ้ายมาตั้งแต่ปี 2002 โปรดิวเซอร์มากประสบการณ์แห่งเบอร์ลิน ไฮโน เดคเคิร์ต ที่สร้างสารคดีระดับรางวัลมาหลายต่อหลายเรื่อง ผู้อำนวยการสร้างแอนดรูว์ โคเอน ที่อำนวยการสร้าง Ai Weiwei: Never Sorry ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ผลงานของอัลลิสัน เคลย์แมน และโปรดิวเซอร์ของ Participant ไดแอน เวเยอร์มานน์ และ เจฟฟ์ สโคลล์
โคเอนกล่าวถึงตอนที่ได้ไปกองถ่าย “ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ผมใช้เวลา 4 หรือ 5 วันกับเว่ย เว่ย และชิน ชิน เฝ้าดูการไล่จับระหว่างพวกค้ามนุษย์และตำรวจชายฝั่ง ไปเยี่ยมค่ายอพยพและสุสาน คุยกับคนท้องถิ่นและผู้ลี้ภัย ร่วมกับหน่วยงาน NGO พาแพผู้อพยพไปจุดปลอดภัย และได้เห็นเว่ย เว่ย กำกับพร้อมกันสามกล้อง ผมบอกว่าเว่ย เว่ย ว่าผมอยากเป็นโปรดิวเซอร์ให้เรื่องนี้ ซึ่งเขาก็ตกลง”
ในเวลาเดียวกันนั้น เวเยอร์มานน์เดินทางไปเทศกาลหนังเบอร์ลิน ซึ่งเธอได้รู้จักกับโปรเจคต์นี้ของเว่ย เว่ย “ฉันเจอชิน ชิน กับแอนดี้ที่เบอร์ลิน ตอนนั้นเว่ย เว่ยยังอยู่ที่เลสบอส เราเริ่มคุยกันว่าหนังเรื่องนี้มีศักยภาพที่จะส่งถึงคนหมู่มากได้ขนาดไหน” เวเยอร์มานน์ กล่าว “ฉันคิดว่ามันน่าตื่นเต้นมาก แม้จะมีข่าวหรือบทความที่ตีพิมพ์ประเด็นนี้มากมาก แต่ภาพยนตร์ด้วยฝีมือของเว่ยเว่ย จะทำให้โลกได้รู้เรื่องนี้มากกว่าสื่อไหนๆ เขาเป็นหัวหอกแห่งวงการสร้างสรรค์ของโลก งานของเขาสื่อถึงทุกคน โดยเฉพาะกับวัยรุ่น”
เวเยอร์มานน์ไปหาเว่ยที่สตูดิโอขนาด 32,000 ตารางฟุตที่เคยเป็นโรงกลั่นสุราที่เบอร์ลินตะวันออก “เว่ย เว่ย สร้างที่นักค้นคว้าขั้นเทพขึ้นมา พวกเขาทำงานสตูดิโอที่ให้บรรยากาศเหมือนเป็นวิหารเลย” เธอกล่าว “ฉันยังจำตอนที่มาเบอร์ลินตอนที่เราเริ่มถ่ายกันไม่นาน สตูมี ห้องสั่งการ' ขนาดใหญ่ ทุกพื้นผิวของห้องมีรูปถ่าย แผนที่ แผนภูมิ เปรียบเทียบอดีตปัจจุบันของทุกประเทศที่เราไปถ่ายทำ เว่ย เว่ย เชื่อมใจทีมงานทุกคนเข้าด้วยกันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคต์นี้”
อ้ายมองว่าสเกลที่ใหญ่ของหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา แค่ต้องทำให้หนังเรื่องนี้มีตัวตนของเขาเหมือนกับงานของเขาที่ผ่านมาทุกชิ้น โคเคนกล่าว “เว่ย เว่ยเกิดมาเพื่อเป็นผู้กำกับ ทุกวันๆ เขากำกับงานสร้างสรรค์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการหรืองานติดตั้ง มันไม่ต่างอะไรกับงานผู้กำกับเลย แค่อ้ายชอบทำงานในสเกลใหญ่ยักษ์ ยิ่งเมื่อเขาตัดสินใจถ่ายทำใน 23 ประเทศ ด้วยความที่เขานอนไม่เยอะ ไม่ค่อยออกไปใช้ชีวิตสังคมทำเท่าไหร่ เขาเลยมีเชื้อเพลิงเหลือเฟือเพื่อขับเคลื่อนงานชิ้นนี้”
ไฮโน เดคเคิร์ต โปรดิวเซอร์สารคดีที่มีผลงานระดับรางวัลกว่า 70 เรื่องกล่าว “คุณกำลังทำงานกับศิลปินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ดังนั้นตอนที่ผมถามหาบทและงบประมาณ เรื่องพวกนั้นยังไม่มีเลย ทั้งๆ ที่เขาเริ่มถ่ายทำไปแล้วด้วย ผมไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มาก่อน แต่อ้ายมีภาพที่ชัดเจนมากว่าเขาต้องการทำอะไร และผมรู้สึกว่างานของผมคือหาหน่วยงานมารองรับภาพในหัวของเขา เราเริ่มตั้งทีมในเบอร์ลินเพื่อจัดการเรื่องเดินทาง ขอวีซ่า และอำนวยความสะดวกต่อการถ่ายทำ ขั้นตอนมันมีอะไรมากกว่าหนังปกติ ซึ่งต้องการทีมงานระดับคุณภาพ”
ทีมงานต้องทำงานกันรวดเร็ว “การทำหนังมีปัจจัยเรื่องเวลามาเกี่ยวเสมอ และเพราะเรื่องราวในหนังมันเกิดขึ้นตอนนี้ซึ่งเว่ย เว่ย เอง ได้แสดงความชัดเจนว่าเขาต้องการให้หนังเรื่องนี้เสร็จออกมาเร็วที่สุด เพื่อหนังจะได้ทำงานของมันได้เต็มที่” เดคเคิร์ตอธิบาย
การถ่ายทำไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น บางครั้งทีมงานต้องเจอกับอันตราย “แน่นอนว่าบางโลเคชั่นมันอันตราย แต่อ้ายไม่เคยกลัว” โคเอนกล่าว “สิ่งที่คนอื่นเห็นว่าเป็นภัย เขาเห็นเป็นโอกาส เขามีออร่าแห่งความอบอุ่นและความเมตตาต่อทุกคนรอบตัวเขา เราทีมงานชายหญิงที่กล้าหาญพอกัน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญให้ได้งานชิ้นนี้ออกมา”
เมื่อถึงจุดที่การถ่ายทำเป็นไปอย่างเข้มข้น ปริมาณฟุตเทจที่ได้ออกมาเริ่มจะมากขึ้นไปทุกที เวเยอร์มานน์และเดคเคิร์ตแนะนำให้อ้ายได้รู้จักกับมือตัดต่อระดับรางวัลชาวแสกนดีเนเวีย นีช เพ อันเดอร์เซน ที่มีผลงานมาแล้วกว่า 250 เรื่อง และมีชื่อเสียงด้านการวางโครงสร้างให้ภาพยนตร์แสดงความสำคัญของประเด็นออกมาให้สะเทือนอารมณ์ สง่างาม และเข้าถึงง่าย “หนึ่งในความยากที่เราต้องเจอคือเราจะจัดการกับฟุตเทจจำนวนมหาศาลนี้ยังไง” เดคเคิร์ตกล่าว “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดถึงนีช ที่ไม่ใช่แค่มีประสบการณ์เกินพอแต่เขายังหาวิธีเล่าเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ผ่านเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ นีชพร้อมลองอะไรใหม่ๆ เพื่อหาจุดลงตัวของความเป็นภาพยนตร์และฟุตเทจสารคดี เทปสัมภาษณ์ และตัวอักษรบรรยาย เขาทำงานเหมือนประติมากร ค่อยๆ ปั้นวัตถุดิบที่เข้ามีจนเป็นรูปเป็นร่าง “นีชย้ายมาพักที่เบอร์ลินเพื่อตัดต่อโดยเฉพาะ นั่นแหละคือความทุ่มเทของเขา” เวเยอร์มานน์กล่าว
แอนเดอร์เซนเปิดใจกับอ้ายว่าเขาอาจจะต้องใช้เวลาตัดต่อเรื่องนี้นานเป็นพิเศษเพราะเขาต้องนั่งดูฟุตเทจที่ความยาวรวมกันกว่า 1,000 ชั่วโมง “ผมบอกว่าผมไม่มีเวลาพอสำหรับเรื่องนี้ แต่ผมอาจจะให้คำปรึกษาได้” เขากล่าว “แต่พอผมเจอเว่ย เว่ย ครั้งแรกที่เบอร์ลิน ผมเคยดูงานแสดงของเขามาก่อนหน้านี้แต่ผมไม่รู้จักเขาโดยส่วนตัว ผมสัมผัสได้ถึงนัยยะทางการเมืองที่เป็นตัวขับเคลื่อนงานของเขาได้ทันที นี่เป็นเรื่องสำคัญนะ ผมเป็นคนทำไรอะไรทำจริง ถ้าผมจะทุ่มให้กับอะไรเต็มร้อย ผมต้องอินกับมัน ตั้งแต่แรกผมนั่งจิบชา คุยกับเว่ย เว่ย เรื่องศิลปะ อาหาร การเมือง ทำความรู้จักกันเพื่อให้เข้าใจโทนของหนัง เขามีอารมณ์ขันดีนะ และนั่นทำให้เราเข้ากันเร็วขึ้น เราเริ่มคุยกันว่าเราจะทำหนังเรื่องนี้ออกมายังไงให้มันแปลกใหม่”
แต่แอนเดอร์เซนก็ยังต้องตัดสินใจอยู่ดีว่าเขาจะร่วมงานนี้ไหม อ้ายบอกแอนเดอร์เซนว่า “ผมเป็นคนตัดสินใจเร็ว คุณมีเวลา 2 วัน ให้ตัดสินใจ” แอนเดอร์สันตัดสินใจแบบไม่ลังเล “ผมตกลงตั้งแต่ยังไม่ได้เห็นฟุตเทจแม้แต่เฟรมเดียว แต่ผมรู้ว่าเรามีแนวคิดและวิธีนำเสนอคล้ายๆ กัน เราเห็นตรงกันว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่โศกนาฏกรรมของผู้ลี้ภัยแต่เป็นการเดินทางเพื่อเปลี่ยนแปลงของพวกเขาต่างหาก”
ย้ายมาที่เบอร์ลินเพื่อทำงานในสตูดิโอของอ้าย แอนเดอร์เซนเริ่มทำงานร่วมกับทีมนักตัดอาวุโส 2 คนและนักตัดต่อมือใหม่อีก 4 คนเพื่อหาภาพที่ใช้จากฟุตเทจกองพะเนิน ตั้งแต่ชีวิตประจำวันในแคมป์อพยพไปถึงซากปรักหักพังในโมซูล โดยมีอ้ายเฝ้าสังเกตการณ์ใกล้ชิด
“เรามีวัตถุดิบหลายชนิด” อันเดอร์เซนกล่าว “มีทั้งจากค่าย บทสัมภาษณ์ คำถามคือเราอยากเล่ามันออกมายังไง เรื่องแบบนี้เราสามารถเล่าให้จบภายใน 10 นาทียังได้ แต่สำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้เป็นเดือนๆ หรือปีๆ เราอยากมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขา”
ความสมดุลไม่ใช่แค่เอาทุกส่วนประกอบหนังมาปะติดปะต่อกันแต่ยังรวมถึงการหาความลงตัวของความสดใสและความมืดหม่นในการเล่าเรื่อง “เราเริ่มเรื่องจากไอเดียว่าผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึงเกาะเลสบอส มันไม่ใช่การมาถึงเท่านั้นแต่มันยังเป็นชัยชนะของพวกเขา มีการเฉลิมฉลอง แต่พอพวกเขารู้ว่าเส้นแบ่งเขตแดนมันปิด ฝนถล่มและอุปสรรคทุกอย่างมันทำให้พวกเขาท้อแท้ ตอนตัดต่อเราไม่อยากให้คนดูต้องเห็นพวกเขาทุกข์ทรมานมากจนเกินไปเพราะคนดูอาจจะเหนื่อยล้าตั้งแต่ตรงนั้นซึ่งนั่นมันตรงข้ามกับที่เราอยากให้เป็น เราต้องการให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์และรู้สึกกับมันมากกว่าที่จะดูไปงั้นๆ เว่ย เว่ย สร้างที่ว่างให้เราให้สวมบทบาทเป็นผู้อพยพ เพื่อถามว่ามันรู้สึกยังไงที่ไร้อิสระแบบนั้น”
สำหรับเดคเคิร์ตการผสมผสานกันของคำบรรยาย ผู้ให้สัมภาษณ์ ไอเดีย ข้อเท็จจริง อารมณ์ ภูมิประเทศ และสายใยความสัมพันธ์ของมนุษย์สะท้อนวิธีมองโลกในแบบฉบับของอ้าย “อ้ายทำงานเหมือนกับศิลปินวิชวลมากกว่าเป็นแค่ผู้กำกับทั่วไป” เขากล่าว “เขารู้เรื่องงานของเขาเป็นอย่างดี เขารวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง เรื่องราวต่างๆ บทกวี เขารวมรวมมันให้เยอะที่สุดเท่าที่จะได้เพื่อใช้เป็นไอเดียไว้เลือกใส่เข้ามาในหนัง”
หลังจากที่ทุกคนในกองถ่ายทุ่มเทกับหนังเรื่องนี้ ผลงานที่ได้ออกมาคือภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนเรื่องไหน “สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดคือผมรู้สึกว่าคุณไม่สามารถแยกปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งของหนังเรื่องนี้ออกไปแล้วยังรู้สึกเหมือนหนังเรื่องเดิม ภาพ รวมของมันช่างอลังการ มันจะพาคุณเดินทางไปยังเส้นแบ่งของศีลธรรมสุดอ่อนไหวและมอบความรู้ไปในตัว” แอนเดอร์เซนกล่าว
โคเอนเสริมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของอ้าย โดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินคนโปรดของอ้าย มาร์แซล ดูชองป์ หนึ่งในหัวหอกแห่งวงการศิลปะในศตวรรษที่ 20 ที่เชื่อว่างานศิลปะนั้นไม่ใช่แค่อาหารตาเท่านั้นแต่ยังต้องจุดประกายความคิดด้วย ซึ่งหนังเรื่องนี้นำแนวคิดนั้นมาต่อยอด
“ผมคิดว่าคุณจะเห็นอิทธิพลของดูชองป์ในองค์ประกอบสำเร็จรูปที่กล้องจับภาพไว้ตลอดเรื่อง สถานีชาร์จโทรศัพท์ที่มีโทรศัพท์มือถือนับพันเสียบชาร์จอยู่ หรือสุนสานเสื้อชูชีพ แพฉุกเฉินที่ว่างเปล่า กองยาง ทุกความสำเร็จรูปสำหรับวิกฤตผู้ลี้ภัย” โคเอนชี้แจง “สรรพสัตว์ยังเป็นธีมในงานของเว่ย เว่ย อยู่บ่อยครั้ง เช่น แมวผู้ลี้ภัย, เสือในกรงปาเลสไตน์ที่ได้ตั๋วเฟิร์สคลาสสู่อิสระภาพ นกที่ถูกขัง อีแร้งที่รอหาประโยชน์”
สำหรับช่วงเวลาน่าประทับใจเรื่องมันช่างเรียบง่ายแต่ไม่สามารถลืมได้ลง มันสื่อสารในความของหนังเรื่องนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง เมื่อกล้องแพนลงมาเป็นแถวผู้ลี้ภัย เห็นผู้ลี้ภัยชู้ป้ายเขียนคำเดียวสั้นๆ ว่า “respect.” (เคารพ)
“ช่วงเวลานั้นมันสะเทือนใจมาก” เวเยอร์มานน์กล่าว “ผมคิดว่าใครที่ได้ดูจะคิดถึงประสบการณ์ที่มีกับครอบครัวพวกเขาเอง ตัวอย่างเช่นปู่ย่าผมเองก็เป็นผู้อพยพ เช่นเดียวกับหลายๆ คนในสหรัฐ แล้วมันจะทำให้คุณเริ่มเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา”
เดคเคิร์ตเสริม “ในขณะนั้น คุณได้เห็นหน้ามนุษย์คนหนึ่งซึ่งมันเปราะบางมาก มันน่าเศร้าจนหัวใจแทบสลายแต่ยังไงมันก็คือความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นแหละคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้อยากนำเสนอ ก้าวแรกที่ทำจะทำให้ทุกคนเห็นว่าผู้ลี้ภัยก็คือมนุษย์และก้าวต่อไปคือการบอกให้โลกได้รู้ว่าพวกเราทุกคนสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ถ้าเราช่วยกัน”
ทุกคนที่ร่วมการเดินทางไปกับอ้ายในครั้งนี้ล้วนมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง โคเอนกล่าว “ผมจะไม่มีวันลืมครั้งแรกที่ได้เห็นเรือที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัย ผมเห็นความตาย รอยแผลในใจ ความสิ้นหวัง ทั้งหมดผ่านสีหน้าและท่าทางของพวกเขา พวกเขาทิ้งทุกอย่างมา ติดตัวมาแค่โทรศัพท์และเสื้อผ้าที่คลุมหนังหุ้มกระดูก มันเก่าและขาดวิ่นเพราะผ่านมาทั้งภูเขา ทั้งทะเลทราย เปียกชุ่มน้ำของทะเลเมดิเตอเรเนียน หลังจากทำหนังเรื่องนี้ ผมไม่กลัวว่าการเปิดเขตแดนให้ผู้ลี้ภัยจะส่งผลอะไรอีกแล้ว ตราบใดที่มีแผนจัดการ ไม่ใช่เอาแต่ขับไล่ สำหรับประเทศที่เป็นเจ้าบ้านแล้ว การปิดประตูก็ไม่ต่างกับการปิดใจ”
ท้ายที่สุด กลุ่มคนดูคือปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ Human Flow สำเร็จ อันเดอร์เซนสรุป “มันขึ้นอยู่กับคนดูที่จะเชื่อมประสบการณ์ที่พวกเขามีเข้ากับเรื่องนี้ นั่นเป็นซึ่งสำคัญสำหรับเว่ย เว่ย มาตลอด เพื่อให้ที่ว่างคนดูสัมผัส Human Flow ในแบบที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน”
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:18
|
 |
|
|
|
ประเทศต่างๆ ที่ปรากฏใน Human Flow
“เสียงตะโกนของเราดังกว่าการกระทำของเรา อาวุธของเราทรงอาณุภาพกว่าตัวตน นี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น”
-- นิซาณ์ คับบานี, กวีชาวซีเรีย (1923-1988)
อัฟกานิสถาน: ประเทศที่ต้องเจอกับความรุนแรงและสงครามมากว่าทศวรรษ ชาวอัฟกันเป็นชนชาติที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากชาวซีเรีย อย่างไรก็ตามในปี 2016 ปากีสถานบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันหลายร้อยคนกลับไปยังบ้านเกิดแม้ว่าจะขาดความปลอดภัยและขาดปัจจัยการใช้ชีวิตพื้นฐาน ทำให้พวกเขาหลายคนพยายามหนีออกจากประเทศอีกครั้ง
บังคลาเทศ: บังคลาเทศตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย ในปี 2016 มันทำหน้าที่เป็นที่พักชั่วคราวของชาวมุสลิมโรฮิงยากว่า 232,974 คน ที่หนีเอาชีวิตรอดจากประเทศพุทธเป็นใหญ่อย่างพม่า มันเป็นประเทศที่ถูกตีแผ่เรื่องวิกฤตผู้ลัยภัยน้อยเกินจริงที่สุดในโลกตอนนี้ ชาวโรฮิงยาหลายคนถูกทิ้งให้อดตายที่ค่ายชั่วคราวในบังคลาเทศ โดยไม่สามารถจะหนีหรือหางานทำได้
ฝรั่งเศส: ในช่วงที่จำนวนผู้ลี้ภัยทะลักสู่ยุโรปสูงที่สุดในปี 2015-2016 เมืองคาเลส์ที่อยู่บริเวณชายฝั่งของฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นที่พักชั่วคราวของผู้ลี้ภัยกว่า 10,000 คน ผู้คนละแวกนั้นเรียกมันว่า “ป่าทึบ” เพราะความทุรกันดาร พวกเขาตั้งค่ายกันบนที่ซึ่งเคยเป็นที่ทิ้งขยะ หลายคนเป็นเด็กที่เดินทางมาคนเดียว ตัวค่ายไร้ซึ่งระบบอนามัยอย่างสิ้นเชิง แถมอาหารยังไม่เพียงพอ ช่วงสิ้นปี 2016 ค่ายถูกรื้อทิ้ง ส่วนผู้ลี้ภัยบางส่วนถูกส่งเข้าศูนย์จัดการส่วนกลาง แต่ก็ยังมีค่ายงอกขึ้นใหม่ทั่วบริเวณเดิมและผู้ลี้ภัยหลายคนที่เคยพักที่คาเลส์กลายมาเป็นคนเร่ร่อนบนท้องถนนปารีส
กาซ่า: ฉนวนกาซ่าเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 1.3 ล้านคน รวมถึง 576,000 ที่อาศัยอยู่ในค่ายซึ่งถือว่าเป็นจุดที่มีประชาการหนาแน่นที่สุดในโลก เหตุมาจากการที่อิสราเอลปิดล้อมกาซ่า ที่ทำให้การเดินทางและการค้าขายเป็นไปด้วยความลำบาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นรู้สึกเหมือน ”โดนขัง” ซึ่ง 80% ของจำนวนผู้ลี้ภัยใช้ชีวิตโดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชน
เยอรมนี: ในปี 2015 เยอรมนียินดีรับผู้ลี้ภัยมากกว่าประเทศไหนในยุโรป ( รับ 48% ของจำนวนผู้ลี้ภัยในยุโรป) กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของนโยบายเปิดประตู ซึ่งทำให้ฝ่ายขวาจัดในประเทศไม่พอใจ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยมากกว่าความปลอดภัยของประชากรในประเทศ
กรีซ: ด้วยความที่ประเทศตั้งอยู่ติดทะเลอีเจียน ระหว่างตะวันออกกลางและยุโรป กรีซและเกาะเลสบอสกลายเป็นสถานีพักชั่วคราวของผู้ลี้ภัยกว่าล้านคนใน 2015-16 ในปี 2017 UNHR รายงานว่าผู้ลี้ภัย14, 011 ในกรีซ 43,979 ที่เกาะเลสบอสไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้และยังไร้ที่พักพิงเช่นเดียวกัน
ฮังการี: ฮังการีตอบโต้ปัญหาผู้ลี้ภัยทะลักเข้ายุโรปอย่างเข้มงวด ตั้งแต่หยุดเส้นทางคมนาคม และเพิ่มจำนวนทหารที่ชายแดนเพื่อป้องกันคนลักลอบข้ามแดน ภาพที่น่ากลัวจนติดตาคือแนวรั้วรวดหนามยาวตลอดเส้นแบ่งดินแดนจนถูกประนามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน และคนที่เล็ดลอดไปได้จะถูกจับกุมโดยตำรวจฮังการี
อิรัก: อิรักเป็นประเทศที่สร้างผู้ลี้ภัยและเป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน หลายจากปี 2003 ที่กองทัพสหรัฐเข้าควบคุมอิรัก จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่าล้านคน เมื่อปี 2017 มีชาวอิรักกว่า 257,470 เป็นผู้ลี้ภัย และแม้จะต้องรับมือกับความขัดแย้งอยู่เนืองๆ อิรักเปิดชายแดนรับผู้ลี้ภัยถึง 277,000 โดยส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย
อิสราเอล: อิสราเอลและอียิปต์ปิดล้อมกาซ่าตั้งแต่ปี 2017 เหมือนตัดปัจจัยการใช้ชีวิตพื้นฐานของผู้ลี้ภัยกว่าล้านคน อิสราเอลอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 2,600 คน เข้าประเทศเพื่อรับการรักษาฉุกเฉิน แต่ไม่มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอย่างเป็นทางการเพราะทั้งสองประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตตรารับผู้ลี้ภัยต่ำที่สุดในโลกตะวันตก
อิตาลี: ในปี 2015 ผู้ลี้ภัย 153,436 คน จากกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮาราและลิเบียข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนจนมาถึงอิตาลี ในปี 2016 ผู้ลี้ภัยอีกกว่า 181,436 คน ตามมาสมทบ มันเป็นเส้นทางสู่ยุโรปที่อันตรายที่สุดเส้นหนึ่ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,576 ราย และจำนวนนั้นไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย
จอร์แดน: หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี 1948 และ 1967 จอร์แดนกลายเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคน ชาวปาเลสไตน์ถือเป็นชาติที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยสูงที่สุดในโลก กว่า 5 ล้านคนที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ (UNRWA) ชายแดนติดกับซีเรียที่ถูกปิดตั้งแต่ปี 2016 ประเทศเล็กๆ นี้ประสบปัญหาน้ำขาดแคลนและยังเป็นที่ตั้งค่ายอพยพชาวซีเรียที่ใหญ่ที่สุดในโลก ค่ายซาทารี ที่กลายมาเป็นเมืองใหญ่อันดับสี่ของจอร์แดนไปแล้ว
เคนย่า: เคนย่าเป็นที่ตั้งของค่ายดาดาบ หนึ่งในค่ายอพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นบ้านของผู้ลี้ภัย 245,000 จากโซมาเลีย อิริเทรีย และ ซูดานใต้ ที่จากบ้านเกิดมาเพราะสงครามกลางเมือง ภัยแล้ง และภาวะเศรษกิจล่มสลาย ในปี 2016 ที่เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก ทำให้จำนวนผู้อพยพในค่ายสูงเกือบครึ่งล้านคน
เลบานอน: ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียทะลักผ่านชายแดนเข้ามาตอนที่สงครามกลางเมืองเริ่มปะทุ จนตอนนี้กลายมาเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรเลบานอนทั้งหมด ประเทศนี้เปิดรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มาตั้งแต่ปี 1948 โดยมีผู้ลี้ภัย 450,000 อาศัยอยู่ที่ค่ายอพยพ 12 แห่งโดยมีทรัพยากรให้ใช้อย่างจำกัดมาก
มาซีโดเนีย: อีกหนึ่งประเทศชายฝั่งที่เป็นเป้าหมายของผู้ลี้ภัยหลายคน มาซีโดเนียเผชิญปัญหาจำนวนผู้ลี้ภัยที่พุ่งขึ้นในปี 2015 และ 2016 ในปี 2016 มาซีโดเนียปิดชายแดนที่ติดกับกรีซ ปิดเส้นทางที่เรียกกันว่า “เส้นทางบอลข่าน” ที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากใช้เดินทางเข้าสู่ยุโรปตะวันตก หลายพันคนต้องติดอยู่ในค่ายอพยพ
มาเลเซีย: ชาวโรงฮิงยาที่หนีออกจากพม่ามาขอลี้ภัยในมาเลเซีย ซึ่งในปี 2017 ประเทศนี้มอบที่พักพิงให้ชาวโรฮิงยากว่า 60,000 คน มาเลเซียไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้ที่นั่นไม่มีกฏหมายรองรับเพื่อปกป้องพวกเขา
เม็กซิโก: ทุกปีมีคนกว่าห้าแสนคนพยายามข้ามชายแดนเม็กซิโกมาฝั่งสหรัฐเพื่อหาความปลอดภัยให้ชีวิต ท่ามกลางนโยบายใหม่ของทรัมป์ที่ส่งผลต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยโดยตรง เช่นเดียวกับการสร้างกำแพงตลอดแนวตะเข็บชายแดน ชาวอเมริกากลางต้องหลบหนีเพราะปัญหาความรุนแรงและแก๊งค้าย้าอาศัยเม็กซิโกเป็นที่พึ่งพิง คาดว่าจำนวนผู้ลี้ภัยในเม็กซิโกจะพุ่งสูงถึง 20,000 คนในปีนี้ เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้ว
ปากีสถาน: ตั้งแต่ที่โซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ปากีสถานรองรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 3 ล้านคน อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูร้อน 2016 ปากีสถานประกาศว่าจะส่งตัวผู้ลี้ภัยจำนวนมากกลับประเทศ หลายๆ คนไม่มีที่ปลอดภัยให้พวกเขากลับไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวอัฟกันกว่า 600,000 คนถูกส่งตัวกลับ เป็นหนึ่งในการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ชาวอัฟกันทั้งมีเอกสารยืนยันและไม่มีกว่า 2 ล้านคนยังอยู่ในปากีสถาน
เซอร์เบีย: เซอร์เบียเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ชายแดนติดกับฮังการี ประเทศนี้การมาเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในปี 2017 ตามข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปและตุรกี ที่จะลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางด้วยเรือ แต่มันเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางผ่าน “เส้นทางบอลข่าน” ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องเดินทางผ่านเซอร์เบีย ในช่วงต้นปี 2017 ผู้ลี้ภัยประมาณ 150 คนเดินทางเข้าเซอร์เบียทุกๆ วัน ครึ่งนึงของจำนวนนั้นเป็นเด็กที่เดินทางคนเดียว เซอร์เบียไม่ให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยดังนั้นพวกเขาหลายคนต้องติดในค่ายอพยพที่ทั้งไม่ปลอดภัยและขาดสุขอนามัยที่ดี
สวีเดน: สวีเดนรับปริมาณผู้ลี้ภัยต่อเมืองสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากซีเรีย ตามด้วยแอฟริกา บอลข่าน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตั้งรกรากในสวีเดน มีคนกว่า 191,000 เขียนคำร้องขอพำนักที่สวีเดนแต่มีคนถูกปฏิเสธ 60,000-80,000 คน
สวิสเซอร์แลนด์: มีชายแดนหลายจุดติดกับบอลช่าน ผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกันที่พยายามไปเยอรมนีหลังจากที่เข้ายุโรปที่ฝั่งอิตาลี มักจะต้องผ่านสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์มักหนีจากการโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนในแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ทางการสวิสเซอร์แลนด์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเป็นธรรม แต่ยังมีรายงานกว่าผู้ลี้ภัยเป็นพันๆ คนถูกส่งตัวกลับอิตาลี และยังมีการโต้เถียงว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับการยอมรับจากสังคมชาวสวิสหรือไม่
ไทย: เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของผู้ลี้ภัยที่หนีความรุนแรง การกดขี่ และเศรษฐกิจฝืดเคืองในเมียนม่า ตามรายงานของสหประชาชาติ ค่ายอพยพที่อยู่บริเวณชายแดนของรองรับชาวเผ่ากว่า 102,251 คน โดย 80% เป็นชาวกระเหรี่ยง ที่ถูกขับไล่จากประเทศเพราะเป็นคนกลุ่มน้อย ในปี 2015 ชาวโรฮิงยาเป็นพันๆ คนล่องเรือมาประเทศไทยผ่านประเทศมาเลเซีย ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้ที่นั่นไม่มีกฏหมายรองรับเพื่อมอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้พวกเขา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาในประเทศไทยต้องเสี่ยงเตกป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
ตุรกี: ชาวเคิร์ด 30 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ชื่อว่าเคอร์ดิสถาน ที่กินพื้นที่ของอิหร่าน อิรัก ซีเรีย และตุรกี ในปี 2015 ทหารตุรกีปิดล้อม ต่อสู้อย่างดุเดือดทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี ทำให้ชาวเคิร์ดกว่า 500,000 คนต้องไร้บ้าน บางคนพยายามหนีไปกรีซ ตุรกียังเป็นเจ้าบ้านให้กับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 2.5 ล้านคน ในปี 2015 ตุรกีและสหภาพยุโรปร่างข้อตกลงยับยั้งผู้ลี้ภัยทะลักเข้ายุโรป สภาพยุโรปสามารถส่งตัวผู้ลี้ภัยกับตุรกีได้โดยแลกเปลี่ยนกับเงิน 6 พันล้านยูโรปและวีซ่าผ่านทุกประเทศในยุโรปสำหรับประชาชนตุรกี
สหรัฐอเมริกา: ผู้ลี้ภัยประมาณ 3 ล้านคนมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สภาคองเกรสอนุมัติกฏหมายผู้ลี้ภัยในปี 1980 อย่างไรก็ตาม นโยบายนั้นถูกยกเลิกเมื่อทรัมป์ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิปดี มีการแบน 6 ประเทศมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศ และเตรียมสร้างกำแพงมูลค่าหลายพันล้านเหรียญตลอดเส้นแบ่งเขตแดนอเมริกา-เม็กซิโก ในปี 2014 สหรัฐต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อผู้หญิงและเด็กกว่าแสนคนพยายามหนีออกจากเขตสงครามในอเมริกากลางเช่นประเทศเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส ในเวลานั้นสหรัฐจัดตั้งโปรแกรมพิเศษเพื่อรับเด็กๆ จากกลุ่มสามประเทศนั้นให้ส่งคำร้องเพื่อพักพิงในสหรัฐจากประเทศบ้านเกิดของพวกเขาได้เลย ก่อนที่จะเดินทางเสี่ยงอันตรายขึ้นเหนือมา ทุกวันนี้โปรแกรมนั้นถูกพักไว้
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
7 ธ.ค. 60 6:18
|
 |
|
|
|
ประวัติทีมงาน
อ้าย เว่ย เว่ย (ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์) ศิลปินระดับโลกที่สร้างผลงานสั่นสะเทือนไปทั้งโลก ตั้งแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม ไปจนถึงงานติดตั้ง โซเชียล มีเดียและสารคดี อ้ายใช้สื่อหลายรูปแบบเพื่อแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ผู้ชมให้สำรวจสังคมและคุณค่าของมัน งานแสดงล่าสุดของเขาได้แก่ Ai Weiwei: Trace at Hirshhorn ที่พิพิธภัณฑ์เฮิร์ชฮอร์นในวอชิงตัน ดี.ซี. Maybe, Maybe Not ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในเยรูซาเลม Law of the Journey ที่หอศิลป์แห่งชาติในปราก Ai Weiwei. Libero ที่Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์, #SafePassage ที่พิพิธภัณฑ์FOAM ในอัมสเตอร์ดัม translocation - transformation ที่ 21er Haus ในเวียนนา, และ Ai Weiwei ที่สถาบันศิลปะแห่งชาติในลอนดอน
อ้ายเกิดที่ปักกิ่งในปี 1947 และยังคงทำงานทั้งในปักกิ่งและเบอร์ลิน อ้ายเป็นอาจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเบอร์ลิน อ้ายเคยทำสารคดีก่อนหน้านี้หลายเรื่องว่าด้วยประเด็นทางสังคมและการเมืองที่คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังใหญ่ๆ ทั่วโลกมากแล้ว เช่น. Disturbing the Peace, One Recluse, So Sorry, Ordos 100 and Ai Weiwei's Appeal ¥15,220.910
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
AD Hunter ©
|
|
|
15 ธ.ค. 60 3:20
|
 |
|
|
|
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
“Human Flow” ภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม ผู้กำกับ-ศิลปินชื่อดัง อ้าย เว่ย เว่ย' ตีแผ่ชีวิตผู้ลี้ภัย ถ่ายทำใน 23 ประเทศทั่วโลก
ในทุกวันนี้หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “วิกฤตผู้ลี้ภัย” แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้และเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ อ้าย เว่ย เว่ย ตัดสินใจทุ่มเทพลังสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า “Human Flow” ขึ้นมา สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวคราวในแวดวงศิลปะย่อมต้องคุ้นชื่อของ อ้าย เว่ย เว่ย เป็นอย่างดี เขาคือศิลปินผู้สร้างผลงานเขย่าโลกผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยการแสดงออกทางความคิดเพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจสังคมและคุณค่าของมันมาแล้วมากมาย อาทิเช่น “Ai Weiwei: Trace at Hirshhorn” ที่พิพิธภัณฑ์เฮิร์ชฮอร์นในวอชิงตัน ดี.ซี., “Maybe, Maybe Not” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในเยรูซาเลม, “Law of the Journey” ที่หอศิลป์แห่งชาติในปราก และ “Ai Weiwei. Libero” ที่ Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์
ด้าน Human Flow ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของเขาไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอเหตุการณ์วิกฤตผู้ลี้ภัย แต่ยังมองลึกไปถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่ง วิกฤตผู้ลี้ภัย ที่เกิดขึ้นนี้ กำลังกลับมาตั้งคำถามมนุษย์ทุกคนว่า พวกเราปล่อยให้มีคนโดนทอดทิ้งมากขนาดนี้ได้อย่างไร? และโลกจะรับมือกับพวกเขาแบบไหน? “ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเกาะเลสบอส เพื่อดูการมาถึงของกลุ่มผู้ลี้ภัย มันเป็นอะไรที่บรรยายได้ยากมากเมื่อเห็นพวกเขาทั้งหมดขึ้นเรือมา ทั้งชาย หญิง ลูกเด็กเล็กแดง คนแก่ พวกเขาตื่นกลัวและไม่รู้เลยว่ากำลังต้องเจอกับอะไรที่แผ่นดินใหม่ และมันยิ่งทำให้ผมอยากรู้เรื่องราวของคนพวกนี้ขึ้นไปอีก ว่าเขาคือใคร ทำไมต้องยอมเสี่ยงชีวิตมายังที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและใครมีใครรู้จักพวกเขา” - อ้าย กล่าวถึงประสบการณ์ความรู้สึกอันเป็นจุดจุดเริ่มต้นของโปรเจคต์ Human Flow ที่ถ่ายทอดชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของผู้ลี้ภัยพลัดถิ่น
ก่อนหน้านี้ Human Flow ได้เคยเดินหน้าออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายแห่ง อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส, เทศกาลภาพยนตร์เทลยูไรด์, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งทันทีหลังจากเปิดตัวฉายล้วนได้กวาดคำชมจากสื่อรายใหญ่ พร้อมได้รับการคาดหมายเข้าชิงรางวัลใหญ่แห่งปีอย่าง “ออสการ์” ในสาขา “ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม” อีกทั้งยังคว้าคะแนนการันตีความเยี่ยมจากเว็บไซต์รวมคำวิจารณ์ยอดฮิตอย่าง Rotten Tomatoes ไปกว่า 93% และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์
“ผลงานสารคดีที่ครองใจไปเต็มๆ และงานภาพทั้งสวยงามและทรงพลัง” The Hollywood Reporter
“นำเสนอได้ตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงทั่วโลก สะท้อนภาพการอพยพถิ่นฐาน
และความลำบากยากเข็ญของมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม” Time Out New York
“เล่าความจริงไม่สามารถมองข้ามได้อย่างซึ่งหน้า เข้าใจง่ายเหมาะสำหรับทุกคน” Indie Wire
“ทรงพลัง ภาพทุกอย่างบอกเล่าด้วยตัวมันเอง โดยมีอ้ายเป็นพยาน Boston Globe
Human Flow บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยผ่านการถ่ายทำใน 23 ประเทศ 40 ค่ายอพยพ ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เช่น อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ อิรัก อิสราเอล หรือแม้แต่ประเทศใหญ่ๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และรวมถึง ไทย ด้วยเช่นกัน พวกเขาทั้งหมดถูกบีบให้ต้องอพยพจากภูมิลำเนาด้วยภาวะสงคราม ความอดอยาก สู่การเดินทางอันยาวไกลเพื่อแสวงหาความปลอดภัย แหล่งที่อยู่อาศัย ไปจนถึงชีวิตใหม่
ด้านงานการกำกับภาพใน Human Flow ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญไม่แพ้ประเด็นที่นำเสนอ ได้มีการใข้งานผู้กำกับภาพภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์ชั้นนำของโลกถึง 12 คน หนึ่งในนั้นคือ “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ผู้กำกับภาพมือหนึ่งของเอเชีย เข้าของผลงาน Hero, In The Mood For Love และ 2046 โดยสิ่งที่ได้มาหลังการทุ่มเทถ่ายทำอันยาวนาน คือฟุตเทจความยาวรวมกันกว่า 1,000 ชั่วโมง จาก ทีมงานกว่า 200 ชีวิต แน่นอนว่าการตัดต่อออกมาให้เป็นเรื่องราวจากฟุตเทจทั้งหมดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยฝีมือและปณิธานของ อ้าย ที่ต้องการสื่อสารกับคนดู ทำให้ นีลส์ พาร์ก แอนเดอร์เซน มือตัดต่อภาพยนตร์สารคดีระดับแถวหน้าของวงการตัดสินใจร่วมโปรเจ็คนี้ด้วย พร้อมทีมงานคุณภาพรวมกว่า 7 คน สำหรับขั้นตอนการตัดต่อ เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้สมดังใจของ อ้าย เว่ย เว่ย
ผู้กำกับ อ้าย เว่ย เว่ย จะมอบประสบการณ์ที่จริงที่สุดให้กับเรา เขาไปอยู่บนเรือที่มีคนล้น เดินทางฝ่าสายฝนและลุยโคลนตมไปกับบรรดาแม่ๆ ที่กระเตงลูก หัวเราะและเล่นกับเด็กๆ ที่คิดการละเล่นขึ้นมาเองตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ความสมดุลของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การเอาวิดีโอทุกส่วนมาปะติดปะต่อกันแต่ยังรวมถึงการหาความลงตัวของความสดใสและความมืดหม่นในการเล่าเรื่อง “เรามีวัตถุดิบหลายชนิด ทั้งจากค่าย บทสัมภาษณ์ คำถามคือเราอยากเล่ามันออกมายังไง เรื่องแบบนี้เราสามารถเล่าให้จบภายใน 10 นาทียังได้ แต่สำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้เป็นเดือนๆ หรือปีๆ เราอยากมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขา” - แอนเดอร์เซน กล่าวถึงจุดมุ่งหมายสำคัญในการเล่าเรื่อง
แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มคนดูคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เนื้อหาใน Human Flow นั้นเกิดผลอย่างสำเร็จ “ผมไม่ต้องการให้คนมองว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศ แต่ต้องการให้หนังเชื่อมโยงถึงคนทั้งโลกได้ตระหนักว่า ทุกคนบนโลกเป็นมนุษย์เหมือนกัน' เมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง หากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน” อ้าย เว่ย เว่ย กล่าวสรุป
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
|
|
|
 |
|
 |
 |
 |
|
|